English (United Kingdom)Thai (ภาษาไทย)

ศิลปะการแสดงกลองยาว

 

แนวความคิดในการพัฒนานักศึกษาบนพื้นฐานวัฒนธรรมไทย เป็นส่วนหนึ่งที่คณะเทคนิคการแพทย์ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมศิลปะการแสดงกลองยาวเป็นกิจกรรมหนึ่งที่คณะเทคนิคการแพทย์ สนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วม โดยถือกำเนิดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากการจัดให้มีการแสดงกลองยาวเข้าร่วมในเทศกาลประเพณี ต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุลคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ ศิลปะการแสดง ควบคู่กับการพัฒนานักศึกษาโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดหาเครื่องดนตรี  สนับสนุนให้มีการฝึกซ้อม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมแนะนำ และถ่ายทอดทักษะด้านต่างๆ เช่น ศิลปะการร่ายรำ ศิลปะการแสดงกลองยาว และพัฒนาเป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีไทย แสดงร่วมกับการแสดงกลองยาวด้วยวิธีการที่สนุกสนาน  ทำให้กลองยาว จากกลุ่มนักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์เป็นที่รู้จัก และชนะเลิศการประกวดการแข่งขันการแสดงกลองยาวในงานเทศกาลที่โรงพยาบาลศิริราชติดต่อกัน ๖ ปีซ้อน   และได้รับเกียรติให้ร่วมในงานแสดงสำคัญ ๆต่าง  อาทิเช่น International day งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติเช่น UMAP และ Asia Pacific Alliance for Health (APAHL) เป็นต้น

การสร้างสรรค์ผลงานกลองยาวในแต่ละปีจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของนักศึกษาแต่ละรุ่นที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป โดยการฝึกซ้อมจากครูจะช่วยปรับให้นักศึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ตามความถนัด การแสดงกลองยาวใช้ผู้แสดงจำนวนมาก การทำงานร่วมกันเป็นทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้แสดงแต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบในการพัฒนาทักษะการแสดง และฝึกซ้อมจนเกิดความชำนาญในเครื่องดนตรีที่ได้รับมอบหมาย  ในขณะเดียวกันก็ต้องสอดประสานกับเพื่อนร่วมวงด้วย การฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องทำให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆเช่น ความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น  ความตรงต่อเวลาการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น การฝึกซ้อมทำให้นักศึกษารุ่นพี่ รุ่นน้อง ทั้งสาขาเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค มีความคุ้นเคยกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังสอนให้เคารพซึ่งกันและกัน และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครู อาจารย์ และเกิดความภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงของไทยอีกด้วย

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2553 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล Download Internet Explorer 8 ด้านบน